อำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ ดังนั้น สิ่งอื่นใดจะมีอำนาจยิ่งกว่าหรือขัดต่ออำนาจอธิปไตยหาได้ไม่อำนาจอธิปไตย ย่อมมีความแตกต่างกันไป ในแต่ละระบอบการปกครอง เช่น ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ในสมัยก่อน) อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ คือ กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นต้นอนึ่ง อำนาจอธิปไตยนี้ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของความเป็นรัฐ เพราะการจะเป็นรัฐได้นั้น นอกจากต้องประกอบด้วย อาณาเขต ประชากร และรัฐบาลแล้ว ย่อมต้องมีอำนาจอธิปไตยด้วย กล่าวคือ ประเทศนั้นต้องเป็นประเทศที่สามารถมีอำนาจสูงสุด (อำนาจอธิปไตย) ในการปกครองตนเอง จึงจะสามารถเรียกว่า “รัฐ” ได้
อำนาจอธิปไตย แบ่งออกเป็น 3 อำนาจย่อย ครอบคลุม (1) อำนาจนิติบัญญัติ (2) อำนาจบริหาร และ (3) อำนาจตุลาการ
1. อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจนิติบัญญัติ เป็นอำนาจในการออกกฎหมายและกลั่นกรองกฎหมายที่จะนำไปใช้ในการบริหารประเทศ โดยกฎหมายที่ออกมานั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่นี้คือ รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
2. อำนาจบริหาร
อำนาจบริหาร เป็นอำนาจในการกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานในการบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ประเทศ และสร้างความสงบสุขให้แก่ประชาชนหน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่นี้คือ รัฐบาล ซึ่งได้แก่ คณะรัฐมนตรี
3. อำนาจตุลาการ
อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการพิจารณา พิพากษาคดีด้วยความบริสุทธิ์และยุติธรรม หน่วยงานที่เข้ามาทำหน้าที่นี้คือ ศาล