การคิดเชิงบริหาร (EF) เป็นร่มใหญ่สำหรับกระบวนการทางสติปัญญาที่มีบทบาทเกี่ยวกับการดูแลตรวจตราการคิดและพฤติกรรม ซึ่งทำงานร่วมกับระบบประสาทเป็นฐานของการดำเนินการที่ทำงานร่วมกันทั้งโดยตรงและทำงานไปพร้อมๆ กัน เพื่อไปสู่เป้าหมายอย่างประสบความสำเร็จ (Cooper-Kahn and Foster, 2013) ประกอบด้วยทักษะต่างๆ 5 ด้าน ได้แก่
- การสลับ (Shift) คือ ความสามารถในการเปลี่ยนความสนใจจากสถานการณ์หนึ่งไปยังอีกสถานการณ์หนึ่ง เช่น ไม่รู้สึกเสียใจเมื่อต้องเปลี่ยนกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น
- การยับยั้งชั่งใจ (Inhibit) คือ ความสามารถในการตอบสนองหรือการกระทำจากสิ่งที่มากระตุ้น และหยุดพฤติกรรมได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น หยุดเล่นของเล่นเมื่อครูบอกว่าหมดเวลาเล่น เป็นต้น
- การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) คือ ความสามารถในการตอบสนองทางอารมณ์ระดับกลางที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป เช่น ร้องไห้เสียใจเมื่อถูกเพื่อนแกล้ง ยิ้มดีใจเมื่อได้รับของขวัญ เป็นต้น
- ความจำขณะทำงาน (Working Memory) คือ ความสามารถในการทำให้ข้อมูลใหม่อยู่เสมอและคงอยู่ตลอดการทำงาน เช่น สามารถพูดคุยในหัวเรื่องเดิมได้ จดจำสิ่งที่เพิ่งฟังจบ เป็นต้น
- การวางแผน (Plan/Organize) คือ ความสามารถในการคิดวางแผน นำไปใช้ ดูผลการดำเนินการ และตรวจสอบผลการดำเนินการตามแผน เช่น ทำงานเสร็จอย่างรวดเร็วตามแผนที่วางไว้ (Isquith et al., 2005: 209-215)
Center on the Developing Child at Harvard University (2011: 2-3) กล่าวว่า EF เริ่มพัฒนาหลัง จากคลอด โดยเฉพาะเด็กอายุ 3 – 5 ปี ถือเป็นช่วงเวลาของหน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาของ EF และจะพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งการพัฒนา EF ช่วงปฐมวัยจะส่งผลต่ออนาคต คือ
- ถ้าเด็กมีโอกาสพัฒนา EF และการควบคุมตนเองได้ประสบความสำเร็จ จะทำให้เด็กได้รับประโยชน์ในการดำเนินชีวิตระยะยาวในสังคม ทั้งด้านความสำเร็จทางการเรียน พฤติกรรมที่ดี สุขภาพดี และประสบความ สำเร็จในการทำงาน
- องค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาพื้นฐานของทักษะที่จำเป็นในการสร้างการปฏิสัมพันธ์ของเด็ก กิจกรรมที่เด็กได้มีโอกาสเข้าร่วม และสถานที่ที่เด็กอาศัย เรียนรู้ และเล่น
- ถ้าเด็กไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่และเงื่อนไขในสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก หรือถ้ายิ่งเลวร้ายคือเป็นสาเหตุให้เด็กเกิดความเครียด พัฒนาการของเด็กอาจจะช้าหรือบกพร่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสที่จะพัฒนาเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่จะสามารถดูแลสัมพันธภาพ สภาพแวดล้อม และกิจกรรมที่จะเสริมสร้างทักษะ เพื่อส่งเสริมความสามารถของ EF เนื่องจากเป็นสิ่งที่ง่ายและได้ผลที่สุดเมื่อพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่ม
หลักการพัฒนาทักษะการคิดเชิงบริหาร (EF) ของเด็ก
Dawson and Guare (2009) เสนอหลักการพัฒนาทักษะ EF ของเด็ก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกฎที่ใช้ในการช่วยเหลือเด็กให้สามารถจัดการกับการทำงานได้สำเร็จด้วยตนเอง โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมและฝึกฝนทักษะ EF ได้อย่างเต็มตามศักยภาพ โดยมีหลักการ ดังนี้
- สอนทักษะที่เด็กยังบกพร่องดีกว่าคาดหวังว่าเด็กจะเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตหรือซึมซับ เด็กแต่ละคนมีทักษะ EF ที่แตกต่างกัน เด็กบางคนสามารถทางานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จได้ด้วยตนเอง แต่เด็กบางคนอาจจะทำไม่ได้หรือติดขัดอย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างการทำงาน จึงทำให้ไม่สามารถทำงานได้จนสำเร็จ หรืออาจกล่าวได้ว่างานนั้นมีระดับทักษะ EF ที่สูงกว่าทักษะที่เด็กคนนั้นมีอยู่ ดังนั้นครูจึงต้องช่วยสอนเด็กอย่างเป็นขั้นตอน โดยระบุพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ระบุเป้าหมายของพฤติกรรมที่ต้องการให้เด็กทำได้ และพัฒนาขั้นตอนที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว ในระยะเริ่มต้นครูอาจเป็นผู้ช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดก่อน แล้วจึงค่อยๆ ลดความช่วยเหลือลง
- คำนึงถึงระดับพัฒนาการของเด็ก บ่อยครั้งที่ผู้ปกครอง ครูคาดหวังว่าเด็กจะต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ซึ่งสูงกว่าระดับพัฒนาการของเด็กที่ควรจะเป็น แต่ครูควรสังเกตว่าเด็กมีพัฒนาการตามวัยหรือไม่ อะไรที่เด็กทำไม่ได้หรือทำได้ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน แล้วรีบให้ความช่วยเหลือ กระตุ้นให้เด็กสามารถมีพัฒนาการอย่างสมวัย
- เปลี่ยนการช่วยเหลือจากสิ่งภายนอกสู่ภายในตัวเด็ก คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าที่ควบคุมการทำงานหรือ EF ในเด็กยังมีขนาดเล็กมาก และยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้นการฝึกฝนทักษะ EF ทุกทักษะต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวเด็ก เช่น การเดินข้ามถนน ครูเดินจูงมือเด็กจนถึงถนนที่จะข้าม ครูพูดว่ามองทั้งสองข้าง มองซ้าย มองขวา มองซ้ายอีกครั้ง ไม่มีรถแล้วเดินข้ามได้ เมื่อเด็กได้ยินก็จะเปลี่ยนจากสิ่งที่อยู่ภายนอกเข้าสู่ภายในตัวเด็ก ทำซ้ำๆและคอยสังเกตว่าถ้าเมื่อไม่มีสิ่งกระตุ้นจากภายนอกเด็กสามารถข้ามถนนได้ด้วยตนเอง เป็นต้น
- ระลึกเสมอว่าสิ่งต่างๆ ภายนอกตัวเด็กสามารถจัดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสภาพแวดล้อม เด็กบางคนอยากดูโทรทัศน์จนละเลยการทาการบ้าน ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง หรือครูอาจจะปิดโทรทัศน์หรือเปลี่ยนสถานที่ในการทำการบ้านที่ไม่มีโทรทัศน์ให้ดู ส่วนการทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจต้องมีหลากหลายแนวทางเพื่อให้ไปถึงจุดหมาย ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีแนวทางที่แตกต่างกัน เช่น การปั้นส้ม เด็กบางคนอาจเริ่มจากการปั้นผลส้ม กิ่งและใบไม้ แล้วค่อยนำมาประกอบกันเป็นผลส้ม แต่เด็กอีกคนอาจปั้นผลส้มเพียงอย่างเดียว โดยไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือผลส้มเหมือนกัน นอกจากนี้การปฏิสัมพันธ์กับเด็ก อาจต้องอาศัยหลากหลายวิธี เช่น การชี้แนะ การเตือนความจำ การตรวจสอบว่าเด็กเข้าใจถูกต้อง เป็นต้น
- กระตุ้นให้เด็กใช้แรงขับภายในของตนเองในการพัฒนาทักษะให้เกิดความชำนาญและควบคุมได้มากกว่าที่จะใช้การบังคับต่อสู้เพื่อให้เด็กทำ เด็กมักจะทำในสิ่งที่เด็กอยากทำ ซึ่งบางอย่างอาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่ครูหรือผู้ปกครองต้องการ ดังนั้นครูหรือผู้ปกครองควรมีกิจวัตรประจำวันให้เด็กรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน หรือให้ทางเลือกเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสในการเลือกตัดสินใจ ไม่ใช่การบังคับ หรือใช้การเจรจาต่อรองเพื่อที่จะเปลี่ยนจากการบังคับให้ทำเป็นสิ่งที่เด็กอยากทำ
- สร้างงานที่เหมาะสมกับความสามารถของเด็กเพื่อให้เด็กได้ใช้ความพยายามอย่างมากที่สุด งานที่ต้องใช้ความพยายามมีอยู่สองอย่าง คือ งานที่เราไม่ค่อยถนัดกับงานที่เราทำได้แต่ไม่อยากทำ เช่นเดียวกับเด็กเมื่อให้งานที่เด็กไม่ค่อยถนัด ครูอาจต้องแยกงานนั้นๆ ออกเป็นส่วนๆ แล้วให้เด็กทำในแต่ละส่วนไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก่อนหรือหลังก็ตาม จนท้ายที่สุดเด็กสามารถทำงานนั้นได้อย่างสำเร็จ
- ใช้สิ่งกระตุ้นเพื่อเพิ่มพูนการเรียนรู้ การกระตุ้นคือการให้รางวัลที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำเป็นปกติและเรียบง่าย เช่น ช่วยแม่ทำความสะอาดบ้าน ผลที่ตามมาคือบ้านที่สะอาด น่าอยู่ และความภาคภูมิใจของเด็กที่สามารถทำได้ เป็นต้น แล้วเด็กจะเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการในการทำงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
- ให้การสนับสนุนที่เพียงพอเพื่อให้เด็กประสบความสำเร็จ ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนที่เพียงพอและเด็กประสบความสำเร็จอย่างเท่าเทียมกัน ช่วยเหลือมากเกินไป นั่นหมายความว่าเด็กล้มเหลวเพราะไม่ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองในการทำงาน หรือช่วยเหลือน้อยเกินไปจนเด็กไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
- สนับสนุนและดูแลอย่างต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะเกิดความชำนาญและประสบความสำเร็จ การแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ การสอนทักษะ การทำจนสำเร็จซ้ำๆ แต่สุดท้ายเด็กก็ล้มเหลวเมื่อต้องทำงานด้วยตนเอง ดังนั้นการสนับสนุนและดูแลเด็กจึงต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าเด็กจะเกิดความชำนาญและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
- หยุดให้การสนับสนุน การดูแล และการกระตุ้น ต้องค่อยๆ ถอนตัวออกมา อย่าออกมาทันที ถ้าสนับและดูแลอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกครั้ง อาจไม่ทราบได้เลยว่าเด็กสามารถทำได้ด้วยตนเองหรือไม่ ครูอาจต้องลดบทบาทบางอย่างลง และสังเกตว่าเด็กยังสามารถทำงานได้ด้วยตนเองหรือไม่ แต่ถ้าลดบทบาทแล้วเด็กทำไม่ได้ อาจต้องรักษาบทบาทนั้นไว้ก่อน แล้วค่อยหาช่วงจังหวะเวลาที่จะค่อยๆ ลดบทบาทนั้นๆ ลงจนเด็กสามารถทำงานได้ประสบความสำเร็จด้วยตนเอง
หลักการทั้ง 10 ข้อจะเห็นได้ว่าให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้ใหญ่ ครู หรือผู้ปกครองที่จะช่วยเหลือเด็กพัฒนาทักษะ EF ได้ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสลับ การยับยั้งชั่งใจ การควบคุมอารมณ์ ความจำขณะทำงาน และการวางแผน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเด็กแต่ละคนต้องการได้รับการพัฒนาทักษะด้านใดเป็นพิเศษ ซึ่งครูหรือผู้ปกครองก็สามารถนำหลักการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเด็กให้มีทักษะ EF ที่เติบโตและพัฒนาไปตามวัย ซึ่งเด็กจะสามารถช่วยเหลือตนเองและปฏิบัติงานต่างๆ ได้อย่างประสบความสำเร็จ
ดุษฎี อุปการ และ อรปรียา ญาณะชัย. (2561). การเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยควรเลือกใช้หลักการใด: การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานหรือการคิดเชิงบริหาร. Veridian E-Journal, Silpakorn University, 11(1) มกราคม–เมษายน 2561.
Leave a Reply