วันนี้เราจะมาทำความรู้จักโปรแกรมหนึ่ง ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถสร้างแอนิเมชัน และ เกม ในรูปแบบง่าย ๆ เป็นภาษาโปรแกรมแบบ visual programming language ที่สามารถใช้ได้อย่างเสรี เราจะมาทำความรู้จักกับ Scratch
Scratch สามารถตั้งค่าเรื่องราวของเกมและภาพเคลื่อนไหว และแบ่งปันสิ่งสร้างสรรค์ของเรากับคนอื่น ๆ ในชุมชนออนไลน์ได้ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนเรียนรู้และส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ด้วยเหตุผลอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21
Scratch สามารถใช้งานได้ฟรี โดยเป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยสถาบัน MIT (The Massachusetts Institute of Technology) มีรูปแบบเป็นบล็อกคำสั่งที่นำมาวางต่อกัน โดยนำ Blockly ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในส่วนของ Google Education ของบริษัทกูเกิล มาพัฒนาชุดคำสั่งในโปรแกรม Scratch ผู้ใช้ไม่ต้องพิมพ์คำสั่งใหม่ทั้งหมด จึงช่วยลดข้อผิดพลาดในการพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีบล็อกที่ช่วยควบคุมการทำงานแบบมีเงื่อนไขและทำซ้ำ โดยผู้ใช้สามารถกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมลงในโครงสร้างเหล่านี้ได้ สามารถนำไปเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในการทำกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project-Based Learning) หรือกิจกรรมการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning)
ใครใช้ Scratch ได้บ้าง
Scratch ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับคนวัย 8 ถึง 16 ปี แต่ใช้โดยคนทุกเพศทุกวัย ผู้ใช้โปรแกรมนี้มีมากมายที่สร้างผลงานด้วย Scratch ซึ่งการใช้งานส่วนใหญ่เกิดขึ้นและใช้งานผ่านบุคคลในกลุ่มต่าง ๆ เช่น โรงเรียน, พิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด และศูนย์ชุมชน
ภาพโปรแกรม Scratch
ที่มา https://scratch.mit.edu/about
เรียนรู้เกี่ยวกับเขียนโปรแกรม
ความสามารถในการกำหนดโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นส่วนสำคัญของการรู้ในสังคมปัจจุบัน เมื่อผู้เรียนเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมใน Scratch พวกเขาจะได้เรียนรู้กลยุทธ์สำคัญในการแก้ปัญหาการออกแบบโครงการและการสื่อสารทางความคิด
สนับสนุนภาษารอบโลก
Scratch สามารถใช้งานได้ในกว่า 150 ประเทศและมีให้บริการมากกว่า 40 ภาษา โดยหากต้องการเปลี่ยนภาษาให้คลิกเมนูที่ด้านล่างของหน้า หรือในตัวแก้ไขโครงการให้คลิกที่ลูกโลกที่ด้านบนของหน้า เพิ่มหรือปรับปรุงการแปล
Scratch ในโรงเรียน
นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วย Scratch ในทุกระดับ (ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย) และสาขาต่าง ๆ (เช่น คณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ภาษาศาสตร์สังคมศาสตร์) โดยผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันเรื่องราว แลกเปลี่ยนข้อมูลและถามคำถาม กันที่ http://scratched.gse.harvard.edu
งานวิจัย
ทีมงาน MIT Scratch และทีมงานวิจัยกำลังค้นคว้าวิธีที่ผู้คนใช้และเรียนรู้ด้วย Scratch สามารถอ่านละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://web.media.mit.edu/~mres/papers/Scratch-CACM-final.pdf
เครื่องมือใช้งานเบื้องต้นภายใน Scratch
มีสคริปต์ สำหรับการใช้งานมีดังนี้
– การเคลื่อนที่
– เหตุการณ์
– รูปร่าง
– ควบคุม
– เสียง
– การรับรู้
– ปากกา
– โอเปอร์เรเตอร์
– ข้อมูล
นำ Scratch ไปใช้ในการสร้างด้านใดได้บ้าง
– การเคลื่อนไหว เป็นการนำรูปภาพมาเชื่อมต่อในการทำให้เห็นเป็นการเคลื่อนไหว อาจเป็นในรูปแบบที่เห็นทั่วไป คือ ไฟล์นามสกุล .gif
– ศิลปะ เป็นการนำสีมาร้อยเรียงหรือนำเสนอให้รูปแบบที่สวยงามตามงานนั้น ๆ
– เกม เป็นการสร้างความบันเทิงให้ผู้เล่นและฝึกคิดอย่างเป็นระบบของผู้สร้างเกม
– เพลง เป็นการใช้เสียงเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง
– เรื่องราว เป็นการสร้างละคร หรือนวนิยายหรือการเล่าเรื่องราวที่ผู้เรียนสนใจจะสร้างขึ้น
– บทเรียน เป็นแนวการสร้างสื่อการสอนที่น่าสนใจมาก ทำให้ผู้สร้างสามารถออกแบบการนำเสนอได้อย่างเต็มที่
แหล่งที่มา
นางสาวชุลีพร สืบสิน. (2558, 3 สิงหาคม). จาก FLOWCHART สู่ SCRATCH. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2561, จาก http://oho.ipst.ac.th/flowchart-scratch/