1.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาหารพื้นเมืองที่ประชาชนในภาคนี้นิยมรับประทานมักมีรสจัด เช่น ลาบ ส้มตำ น้ำตก จิ้มจุ่ม แจ่ว ส่วนข้าวที่นิยมรับประทาน ได้แก่ ข้าวเหนียว ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมรับประทานอาหารประเภทปิ้งและย่างมากกว่าทอดและเนื่องจากเป็นภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งทำให้อาหารขาดแคลน ดังนั้น คนในภาคนี้จึงมีการถนอมอาหารเพื่อให้เก็บไว้รับประทานได้นานที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ ปลาร้า
1.2 ภาคเหนือ
อาหารพื้นเมืองในภาคเหนือจะมีหลากหลายประเภท เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง แกงโฮะ แกงฮังเล ส่วนข้าวที่นิยมรับประทาน คือ ข้าวเหนียว รวมทั้งข้าวที่นำมาแปรรูปเป็นอาหาร ได้แก่ ข้าวซอยและขนมจีนน้ำเงี้ยว นอกจากนี้ ยังมีอาหารพื้นเมืองประเภทอื่น เช่น จิ๊นปิ้ง จิ๊นส้มแคบหมู ไส้อั่ว ผักกาดจอ ถั่วเน่า
1.3 ภาคใต้
อาหารพื้นเมืองที่ประชาชนในภาคนี้นิยมรับประทานจะมีรสจัดมากกว่าภาคอื่น เช่น แกงไตปลา แกงส้ม น้ำพริกกุ้งเสียบ อาหารพื้นเมืองอื่น ๆ ของภาคใต้ เช่น ข้าวยำ บูดู หลน ส่วนผักที่นิยมรับประทาน ได้แก่ สะตอ และลูกเนียง ซึ่งมีมากในภาคใต้
1.4 ภาคกลาง
เนื่องจากภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น จึงมีอาหารพื้นเมืองมากมายหลายชนิด เช่น แกงบอน แกงเขียวหวาน แกงขี้เหล็ก พะแนง น้ำพริกปลาทู น้ำพริกลงเรือ ส่วนข้าวที่นิยมรับประทานคือ ข้าวเจ้า