ทุกวันนี้ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เลื่อนไหลผ่านหน้าจอมือถือเร็วมาก เพียงเลื่อนปลายนิ้วขึ้น-ลงเท่านั้น รวมไปถึงการที่สมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ติดตัวเรามากกว่าโทรทัศน์ ทำให้คนหลายคนเลือกที่จะเช็กข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านสมาร์ตโฟน ไม่ว่าจะเป็นเพจประเภทสื่อตามโซเชียลมีเดียหลาย ๆ แพลตฟอร์ม หรือข่าวที่สรุปมาให้ในแอปพลิเคชันไลน์ ด้วยข้อมูลที่มีมากมายมหาศาลขนาดนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่อ่านเป็นข่าวจริงที่ถูกต้อง หรือข่าวปลอม (เฟกนิวส์ : Fake News) ที่นำเสนอผิดเพี้ยนบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงด้วยมีวัตถุประสงค์บางอย่าง
สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ กระบวนการตรวจสอบข่าวว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ อาจเป็นเรื่องปกติที่หลายคนมักทำเสมอเมื่อเห็นว่าข่าวบางข่าวดูไม่น่าเชื่อถือ แต่สำหรับญาติผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุอาจจะไม่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากพฤติกรรมของการใช้สื่อในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักชอบรับข่าวสารจากกลุ่มสนทนาของตัวเองแล้วแชร์ส่งต่อมาให้ลูกหลานในทันที เมื่อเห็นว่ามันอาจจะเกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อลูกหลาน โดยไม่ได้เช็กแน่นอนว่าเป็นข่าวปลอม และส่วนใหญ่พวกท่านก็เชื่อพวกข่าวปลอมและข้อมูลหลอกลวงลักษณะนี้แบบเป็นตุเป็นตะเลยด้วยว่าคือเรื่องจริง สาเหตุก็ง่าย ๆ เลยว่าพวกท่านไม่ทันคิดว่าจะมีคนทำข่าวปลอมออกมาแชร์ เมื่อเห็นข้อมูลอะไรผ่านตาก็เชื่อไปหมดนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าญาติผู้ใหญ่ของเรานั้นสามารถตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมได้ง่ายดายมาก ๆ และยังมีการแชร์ต่อเพื่อมาเตือนลูกหลายด้วยความเป็นห่วง ทั้งที่ไม่รู้ว่าเป็นข่าวปลอมด้วย วันหนึ่ง ๆ ก็หลายข่าวทีเดียว บางทีมันก็สร้างความรำคาญให้กับเราเช่นกัน เมื่อเห็นว่าพวกท่านแชร์อะไรมาก็ไม่รู้ คิดว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเสียอีก ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะมีวิธีการรับมืออย่างไรดี เมื่อญาติผู้ใหญ่ชอบส่งข่าวปลอมมาให้อ่าน
หลังจากตรวจสอบแล้ว บอกไปเลยว่าเป็นข่าวปลอม
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่ามีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่รับข่าวสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมาแล้วจะทำการแชร์ต่อทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นว่าข่าวพวกนั้นอาจมีความเกี่ยวข้องกับลูกหลานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่รีบส่งต่อก็เพื่อให้ลูกหลานได้รับข่าวโดยเร็วที่สุด อีกทั้งผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งไม่ได้มีพฤติกรรมในการค้นหาข้อมูลดูอีกรอบว่ามันมีรายละเอียดลึก ๆ อย่างไรบ้างเกี่ยวกับข่าวนั้น นั่นจึงเป็นที่แน่นอนว่าไม่ได้ตรวจสอบด้วยว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม เพราะถ้าทำการค้นหารายละเอียดลึก ๆ อีกครั้ง หลาย ๆ ข่าวก็จะเห็นทันทีในหน้าแรกของการค้นหาว่าเป็นข่าวปลอม ดังนั้น หลังจากได้รับข่าวปลอมจากพวกท่าน และตรวจสอบแล้วว่าเป็นข่าวปลอม ให้บอกพวกท่านทันทีว่านี่เป็นข่าวปลอม
หาข้อมูลยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม และส่งข่าวจริงให้อ่าน
หากไม่มีประเด็นใหม่ ๆ ส่วนใหญ่แล้วข่าวปลอมมักจะเป็นข่าวเก่า ๆ ที่วนเวียนกลับมาแชร์ต่อใหม่ ดังนั้น การตรวจสอบว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมนั้น เบื้องต้นทำได้ง่ายมาก ๆ เพียงแค่ใช่คีย์เวิร์ดของข่าวดังกล่าว นำไปค้นหาในเว็บบราว์เซอร์อย่าง Google ก็ได้ หากเป็นข่าวปลอม ผลการค้นหาต่าง ๆ ก็จะขึ้นมาให้เห็นทันทีในหน้าแรกเลยว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม ซึ่งเราก็สามารถนำผลการค้นหานี้ไปแสดงเป็นหลักฐานแก่ผู้ใหญ่ที่ส่งข่าวดังกล่าวมาให้ว่าเป็นข่าวปลอม พร้อมส่งข่าวจริงไปให้อ่านเลยถ้าเป็นไปได้ เพราะผู้ใหญ่หลายคนมักจะไม่เชื่อคำพูดลูกหลาน ด้วยอคติว่าปีนเกลียว เด็กจะรู้ดีกว่าผู้ใหญ่ได้ยังไง หรือประชดประชันเรื่องที่ส่งให้เรียนสูง ๆ เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่มีแหล่งข่าวไหนยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม หรือลองข้อหาเบื้องต้นดูแล้วแทบจะไม่มีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมให้ได้ติดตามต่อเลย อาจจะต้องใช้วิธีการสอบถามไปยังหน่วยงานที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นนั้น ๆ อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงาน ซึ่งทุกวันนี้ติดต่อไม่ยาก เนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มักจะมีช่องทางโซเชียลมีเดียให้ได้ติดต่อ (เว้นแต่จะไม่อ่าน อ่านช้า หรือไม่มีผู้ดูแล) หรืออาจติดต่อสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือให้ช่วยตรวจสอบก็ได้ เพื่อที่จะได้มีการประชาสัมพันธ์ต่อไปด้วยว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม
รวบรวมแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือให้ติดตาม
ในแอปฯ แชตหรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ผู้ใหญ่มักจะมีการสนทนาแบบกลุ่มค่อนข้างเยอะ อาจจะเป็นกลุ่มเพื่อนเก่าสมัยเรียน กลุ่มเพื่อนบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน หรือกลุ่มสังคมอื่น ๆ ที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งข่าวปลอมก็มักจะถูกแชร์ต่อ ๆ กันมาในกลุ่มพวกนี้เป็นหลัก และเมื่อเห็นว่าข้อมูลพวกนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลาน เป็นห่วง อยากให้ระมัดระวังตามที่ข่าวบอก จึงนำมาแชร์ให้ลูกหลานอีกทีด้วยความหวังดีโดยไม่รู้ว่าเป็นข่าวปลอม แม้ว่ากลุ่มพวกนั้นมักจะเป็นที่มาของข่าวปลอม แต่เราก็ไม่สามารถไปบอกให้ผู้ใหญ่ออกจากกลุ่ม หรือห้ามรับข้อมูลอะไรจากกลุ่มได้อยู่ดี หลายเรื่องก็มีประโยชน์ ฉะนั้น ให้พวกท่านกดติดตาม (เรานี่แหละกดให้) พวกช่องหรือผู้ติดต่อที่เป็นสื่อหรือสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือประกอบด้วยก็จะดีกว่า
รวบรวมช่องทางสำหรับตรวจสอบข่าวปลอม
อีกวิธีที่จะช่วยให้ผู้ใหญ่แชร์ข่าวปลอมมาให้น้อยลง คือแนะนำช่องทางการตรวจสอบข่าวปลอมให้พวกท่านได้รู้จัก ซึ่งมีหลายช่องทางทีเดียวในโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม ดีไม่ดี พวกท่านอาจจะสนุกกับการพยายามตรวจสอบข่าวปลอมก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเช็กเบื้องต้นจาก Google ที่จะทำให้เราได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นแทบจะทันทีว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หรืออาจพบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริง ที่ถูกเผยแพร่ในอดีต และปัจจุบันข้อมูลมันเปลี่ยนไปแล้ว ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ที่มักจะมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับข่าวต่าง ๆ เสมอว่าเป็นข่าวจริง ข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือน พร้อมทั้งสามารถส่งเรื่องราวไปให้ตรวจสอบได้ด้วย ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์รวมข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันการแพร่กระจายข่าวปลอมสู่สังคม สามารถค้นหาข่าวปลอมและแจ้งเบาะแสข่าวปลอมได้
นอกจากนี้ยังมี LINE Chatbot “แม่รู้ดี” ซึ่งเป็นการนำ AI มาใช้งานในรูปแบบ Fact-Checking AI เพื่อเช็กข้อความต่าง ๆ ที่เราส่งไปถาม โดยเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ ข้อมูลไหนที่มีอยู่ในฐานข้อมูลแล้ว ระบบจะแจ้งให้รู้ได้แทบจะทันทีว่าข้อความไหนน่าสงสัย มีอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงบ้าง รวมถึงการนำเสนอเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันให้เราได้อ่านเพิ่มเติม ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร Fact Checking Center (FCC) เว็บไซต์เช็กให้รู้ จัดทำโดยสถาบันนิด้า เป็นพื้นที่ตรวจสอบแนวโน้มความเป็นไปได้ที่เข้าองค์ประกอบข่าวปลอมด้านสุขภาพ โดยพิจารณาจากโครงสร้างของข่าวและรูปแบบของภาษาเป็นหลักว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม
ให้ความรู้เรื่องการสังเกตข่าวปลอม
หนทางที่ดีและยั่งยืนที่สุด คือการให้ความรู้แก่พวกท่านด้วยว่าเราจะสามารถสังเกตข่าวปลอมด้วยตัวเองเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมันมีวิธีสังเกตอยู่หลายจุดด้วยกัน เมื่อรู้จุดสังเกตเหล่านี้ พวกท่านจะสามารถกรองได้เบื้องต้นว่าข่าวไหนที่เป็นข่าวปลอมแน่นอน ข่าวไหนให้สันนิษฐานว่าปลอม ข่าวไหนต้องหาข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม เบื้องต้นดูความน่าเชื่อถือของเนื้อหาและการอ้างอิง ควรอ้างอิงที่มา ข้อมูลที่กล่าวถึงอย่างชัดเจน เช่น สถานที่ เวลา บุคคลที่สามที่กล่าวถึง หรือสังเกตการเรียบเรียงเนื้อข่าว และการสะกดคำต่าง ๆ เพราะข่าวปลอมมักจะมีการสะกดคำผิดและมีการเรียบเรียงที่ไม่ดี ลองเช็กว่ามีเว็บไซต์หรือแหล่งข่าวอื่นที่มีข่าวในลักษณะเดียวกันหรือไม่ ได้ตรวจสอบข่าวแล้วหรือยัง
หรือวิธีดูที่ลึกกว่านั้น คือสังเกต URL ของข่าว โดยข่าวปลอมอาจมี URL คล้ายเว็บของสำนักข่าวจริง แต่มีจุดแตกต่างอย่างไร แล้วแหล่งที่มาของข่าวนั้นเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้หรือไม่ ความน่าเชื่อถือของผู้เขียน วันเวลาที่ข้อมูลถูกเผยแพร่/ตีพิมพ์ และตรวจสอบรูปภาพประกอบด้วย บางภาพอาจเป็นภาพปลอม หรือเป็นภาพจริงจากข่าวเก่าข่าวอื่น นำมาใช้เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ รวมไปถึง “การตั้งคำถาม” ทุกครั้งก่อนแชร์ข่าวต่อ ใช้วิจารณญาณแยกแยะได้ว่าข่าวใดเป็นข่าวปลอม ก็จะช่วยให้พวกท่านแชร์ข่าวปลอมต่าง ๆ น้อยลง เพราะสามารถสังเกตข่าวปลอมได้เองแล้ว