หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้วเรื่องของนโยบายความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว (Privacy Policy) เริ่มถูกพูดถึงอีกครั้งหลังจากที่ WhatsApp จะเริ่มมีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานไปให้กับ Facebook จนผู้ใช้งานในหลายประเทศเริ่มมีการแบน WhatsApp และหันไปใช้งาน Signal แอปพลิเคชันสื่อสารที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานทุกคน (และ Elon Musk ได้ออกมาแนะนำให้ใช้)
และเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวนี้เองได้ลามไปยังธุรกิจ Search Engine แล้วเรียบร้อยเนื่องจากล่าสุด DuckDuckGo แพลตฟอร์ม Search Engine ที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและการค้นหาเป็นจุดขาย ก็ได้รับส้มหล่นลูกใหญ่เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา DuckDuckGo สามารถสร้างตัวเลขผู้ใช้งานเกิน 100 ล้านคนต่อวัน สำเร็จเป็นครั้งแรกของบริษัท
ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นการเติบโตก้าวใหญ่ของ DuckDuckGo ในการเริ่มเข้ามามีบทบาทกับตลาด Search Engine มากขึ้นหลังจากที่ Google ครองสัมปทานมายาวนานร่วม 2 ทศวรรษ จนหลายคนอาจลืมไปแล้วว่านอกจาก Google แล้วก็ยังมี Search Engine ตัวอื่นที่น่าสนใจให้เราได้ใช้บริการกันด้วย (ซึ่ง DuckDuckGo คือ 1 ในนั้น)
วันนี้ The Growth Master เลยขอพาทุกคนไปรู้จักกับ DuckDuckGo กันให้มากขึ้น ว่าพวกเขาแตกต่างจาก Search Engine ตัวอื่นอย่างไร พร้อมเปิดเบื้องหลังการเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในสัปดาห์เดียวของ DuckDuckGo ไปติดตามกันต่อได้เลย
Search Engine ที่ใช้ “ความปลอดภัย” เป็นจุดขายตั้งแต่วันแรก
DuckDuckGo คือ Search Engine ตัวหนึ่งในอินเทอร์เน็ต ที่มีโลโก้เป็นรูป “เป็ด” ก่อตั้งขึ้นโดย Gabriel Weinberg เริ่มให้บริการครั้งแรกในปี 2008 ดูผิวเผินก็ไม่แตกต่างอะไรกับ Search Engine ตัวอื่น (เช่น Google) แต่สิ่งที่ทำให้ DuckDuckGo โดดเด่นกว่า Google หรือ Search Engine ตัวอื่นในตลาดก็คือเรื่องของความปลอดภัย (Privacy) ของข้อมูลที่ทาง DuckDuckGo กล้ายืนยันได้ว่าข้อมูลการค้นหา หรือข้อมูลส่วนตัว (Personal Information) ของผู้ใช้บริการทุกคนจะไม่มีทางหลุดออกไปแน่นอน
และ DuckDuckGo จะไม่มีการติดระบบ Tracking ข้อมูล ไม่มีคุ้กกี้อะไรทั้งนั้น ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องเจอกับ Ads ประเภท Retargeting ที่ตามไปหลอกหลอนทุกแพลตฟอร์มส่วนตัว
ซึ่งจุดเด่นตรงนี้มันเกิดมาจากวิสัยทัศน์ของ Gabriel Weinberg ผู้ก่อตั้ง DuckDuckGo นี่แหละครับ จากแต่ก่อนเขาก็เป็นคนที่ทำงานด้านซอฟต์แวร์อยู่แล้ว และเขาก็เป็นคนหนึ่งที่แต่ก่อนก็ใช้ Google ในการค้นหาข้อมูลบางอย่าง แต่เขารู้สึกว่าในการค้นหาผ่าน Google มันจะมาพร้อมโฆษณาที่เป็นสแปมเต็มไปหมด ทำให้เขาไม่สามารถหาข้อมูลที่ต้องการได้ทันที (ต้องหันไปพึ่ง Wikipedia อยู่บ่อยครั้ง)
อีกทั้งเขารู้ดีว่าบริษัทใหญ่อย่าง Google ต้องมีเก็บบันทึกข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานไปเพื่อการทำการตลาดของตัวเอง หรือเอาไปขายต่อให้รัฐบาล , ธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องการข้อมูลระดับสเกลใหญ่
จากปัญหานั้นเขาเลยมีความคิดบ้า ๆ ว่าอยากจะสร้าง Search Engine ที่ไม่มีระบบติดตามข้อมูลและให้ผู้ที่ค้นหาเจอสิ่งที่เขาต้องการได้อย่างรวดเร็วที่สุด เลยเกิดเป็น DuckDuckGo ขึ้นมาในที่สุด
DuckDuckGo ใช้ช่องทางไหนสร้างเงินให้ธุรกิจและวิธีที่ DuckDuckGo ใช้ต่อสู้กับคู่แข่งมีอะไรบ้าง ?
อีกหนึ่งความเจ็บปวดที่แพลตฟอร์ม Search Engine ตัวเล็ก ๆ อย่าง DuckDuckGo ต้องเจอก็คือการต่อสู้กับ Google ซึ่งทาง Gabriel Weinberg เขารู้ตัวดีว่าแพลตฟอร์มของเขาคงไปต่อสู้กับ Google ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะก็ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้อินกับเรื่องความปลอดภัยมากขนาดนั้น รวมถึงคุ้นชินกับ Google อยู่แล้ว
แต่ Gabriel Weinberg ได้คิดแผนสุดครีเอทที่ตอนนี้ก็ยังใช้อยู่ เพราะในเมื่อตลาดออนไลน์ส่วนใหญ่ Google ได้ยึดสัมปทานไปแล้ว เขาเลยพุ่งเป้าไปที่ตลาด “ออฟไลน์” ด้วยการเช่าป้าย Billboard ขนาดใหญ่ในการทำโฆษณาพร้อมกับข้อความสุดแสบ ที่เหมือนพยายามให้หลายคนเห็นความสำคัญของพวกเขา อย่าง “Google tracks you. We don’t” , Tired of being tracked online? We can help. กระจายอยู่ทั่วอเมริกา (โดยเฉพาะแคลิฟอร์เนีย) และยุโรปบางประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าวิธีนี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ DuckDuckGo เป็นที่รู้จักและถูกใช้งานมากขึ้น
แต่หลังจากนั้นก็เกิดคำถามขึ้นอีกว่าแล้วแบบนี้ DuckDuckGo เอาเงินมาจากไหน ในเมื่อตัวเองเน้นเรื่องความปลอดภัยไม่มีระบบ Tracking และไม่ขายข้อมูลให้ใคร ? คำตอบก็คือ DuckDuckGo มีวิธีสร้างรายได้อยู่ 2 ทางหลัก ๆ ครับ
ทางแรกนั่นก็คือ การสร้างโฆษณาบนแพลตฟอร์ม (DuckDuckGo Ads) หรือการให้ลงโฆษณาได้บน Search Engine ของตนผ่านทาง BingAds แต่ทาง DuckDuckGo ก็ออกมาเคลมไว้ก่อนเลยครับว่า Ads ที่ว่าจะเป็น Keyword Ads ธรรมดา เช่นเมื่อคุณค้นหาคำว่า “Cars” ส่วนบนสุดของหน้า SERP ก็จะเจอกับ Ads ที่ซื้อ Keyword คำว่า “Cars” เอาไว้แค่นั้น ไม่มี Tracking เพื่อไปทำ Retargeting ต่อแน่นอน
ส่วนวิธีสร้างรายได้ที่2 ของ DuckDuckGo ก็คือการทำ Affiliate Program ซึ่งทาง DuckDuckGo เองก็ได้ไปร่วมมือกับ 2 E-Marketplace ชื่อดังอย่าง Amazon , eBay เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรายได้ให้พวกเขา
กล่าวคือถ้าคุณเกิดมีการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน Amazon หรือ eBay โดยใช้ DuckDuckGo เป็นต้นทางในการสร้าง Conversion ทาง Amazon กับ eBay ก็จะมีการแบ่งเงินส่วนแบ่งให้กับ DuckDuckGo ด้วยซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ DuckDuckGo สร้างกำไรให้กับธุรกิจได้เช่นกัน
มาเงียบๆ ! ทำไม DuckDuckGo ถึงเติบโตอย่างรวดเร็วกับตัวเลขการใช้งานทะลุ 100 ล้านครั้ง ภายในวันเดียว
ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา DuckDuckGo ก็ได้ทำการประกาศข่าวดีนั่นก็คือ “ตอนนี้ DuckDuckGo มีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านครั้งในวันเดียว” ซึ่งถือเป็นตัวเลขผู้ใช้งานสูงสุดตลอดกาลที่ DuckDuckGo ทำได้ นับตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2008 หรือเกือบ 12 ปีเต็ม
แม้ตัวเลขสูงสุดตลอดกาลของ DuckDuckGo ในครั้งนี้จะเทียบอะไรไม่ได้กับ Google ที่มีสเกลผู้ใช้งานระดับรายวันกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก แต่จากสถิติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา DuckDuckGo ก็สร้างตัวเลขผู้ใช้งานดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี และมีอัตราการเติบโตขึ้นต่อเนื่องอีกด้วย (จากปี 2018 มีผู้ใช้งานเฉลี่ยแค่วันละ 30 ล้านครั้ง)
และนอกจากนั้นสถิติล่าสุดในปี 2020 ทาง Statcounter ได้ทำการแบ่งเปอร์เซ็นต์ของตลาด Search Engine ทั่วโลก และจากการสำรวจในครั้งนั้นพบว่า DuckDuckGo ก็มีตัวเลขผู้ใช้งานมาเป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว เป็นรองเพียงแค่ Google เจ้าเดียว
โดยเบื้องหลังความสำเร็จของ DuckDuckGo ในครั้งนี้ส่วนแรกมาจากการที่ผู้ใช้งานเข้าถึง DuckDuckGo ได้ง่ายขึ้น หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว DuckDuckGo ได้รับให้เป็น Search Engine ทางเลือกใน Chrome ให้ผู้ใช้งานสามารถโหลด Extension มาติดไว้กับ Chrome Account เพื่อความสะดวกในการค้นหาข้อมูลได้เลย
และในปีเดียวกันนั้นเอง DuckDuckGo ก็ถูกเพิ่มเข้าไปเป็นอีกหนึ่ง Search Engine ทางเลือกบน Safari ตามหลัง Google, Yahoo! และ Bing (แต่ล่าสุดกว่าเมื่อเดือนที่แล้ว Safari ก็เพิ่ม Ecosia เข้าไปเป็นอีกหนึ่ง Search Engine ทางเลือกด้วย) ทำให้ผู้ใช้งานทั้งบน Chrome หรือ Safari สามารถเข้าถึง DuckDuckGo ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ตัวเลขผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดนั่นเอง
นอกจากนั้นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ DuckDuckGo มีผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเยอะขนาดนี้ก็เพราะกระแสแบน WhatsApp ที่กำลังร้อนแรงในต่างประเทศ หลังจากที่ WhatsApp ออกนโยบายให้ผู้ใช้งานทุกคนต้องแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้กับ Facebook ถ้าไม่กดยอมรับนโยบายนี้ ระบบก็จะไม่ให้คุณได้ใช้งาน WhatsApp ต่อ
ทำให้ผู้ใช้งาน WhatsApp ส่วนใหญ่หันไปใช้งานแอปพลิเคชันที่ปลอดภัยกว่าอย่าง Telegram , Signal (ในที่นี้มี Elon Musk ด้วย) ที่โดดเด่นในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน รวมถึงไม่มีระบบ Tracking อะไรอยู่ในแอปพลิเคชัน
ซึ่งเรื่องของนโยบายความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ที่ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นเลยเป็นเหตุให้ DuckDuckGo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ได้รับกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
เพราะสังเกตได้เลยว่าช่วงที่ DuckDuckGo มีตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นช่วงเวลาหลังจากที่เรื่องของ WhatsApp และ Signal เพียงแค่สัปดาห์เดียว หรือเฉลี่ย DuckDuckGo มีตัวเลขการเข้าใช้งานเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์นั้นมากกว่า 20 ล้านครั้งเลย
และด้วยกระแสด้านนโยบายความปลอดภัยที่มาแรงขึ้น ก็ส่งผลให้ทั้ง 3 อย่าง Signal , Telegram และ DuckDuckGo มีการดาวน์โหลดมากขึ้นเช่นกันจนได้ตำแหน่ง Top Free Apps บน Google Play ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วอีกด้วย
สรุปทั้งหมด
ถึงตอนนี้เรื่องของนโยบายความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy) ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าเป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะออนไลน์ ต้องหันมาเริ่มเรียนรู้และให้ความสนใจ เพราะกรณีนี้ไม่ใช่ “ครั้งแรก” ที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เริ่มหันไปใช้บริการทางเลือก เพราะปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูล
อย่างไรก็ตามหากใครที่เล็งเห็นปัญหาเรื่องนี้ แล้วอยากลองเริ่มเปลี่ยน Search Engine ในการค้นหาข้อมูล คุณสามารถลองใช้งาน DuckDuckGo ได้ทันทีนะครับ เพราะ DuckDuckGo ก็มีการรองรับการใช้งานในไทยเหมือนกัน จะใช้งานผ่าน Safari หรือ Chrome ก็ตามที่คุณสะดวกเลยครับ