พระพุทธศาสนากำเนิดที่ประเทศอินเดีย ศาสดาของพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ (อ่านว่า กะ-บิน-ละ-พัด)
เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ ์ (อ่านว่า พระ-คัน หมายถึง ตั้งท้อง) และใกล้ครบกำหนดประสูติ จึงทูลลาพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อเสด็จกลับไปประสูติที่กรุงเทวทหะ ตามธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติในสมัยนั้นที่ว่า สตรีจะต้องคลอดลูกที่บ้านพ่อแม่ของตนเอง เมื่อเสด็จมาถึง ณ ลุมพินีวัน ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ พระนางสิริมหามายาได้ประสูติพระราชโอรสที่ใต้ต้นสาละ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
หลังจากพระราชโอรสประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะได้เชิญพราหมณ์ มาทำพิธีขนานพระนามและทำนายพระลักษณะโดยได้ขนานพระนามว่า สิทธัตถะ แปลว่า ผู้สำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา(ต้องการ) จากนั้นจึงทำนายพระลักษณะ โดยพราหมณ์ ๗ คนทำนายว่า ถ้าอยู่ครองราชสมบัติ จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ (อ่านว่า จัก-กระ-พัด) ผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าออกผนวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก
แต่ โกณฑัญญะพราหมณ์ (อ่านว่า โกน-ทัน-ยะ-พราม) ทำนายว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จออกผนวชและเป็นศาสดาเอกของโลก หลังจากประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาสิ้นพระชนม์ (ตาย) เจ้าชายสิทธัตถะจึงอยู่ในความดูแลของพระนางมหาปชาบดีโคตมี (อ่านว่า พระ-นาง-มะ-หา-ปะ-ชา-บอ-ดี-โค-ตะ-มี) ผู้เป็นน้า
เมื่อเจ้าชายมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ได้อภิเษกสมรส (อ่านว่า อะ-พิ-เสก-สม-รด หมายถึง แต่งงาน) กับพระนางยโสธรา (พิมพา) และมีพระโอรสพระนามว่า ราหุล แปลว่า บ่วง
วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จประพาสอุทยาน (สวน) และพบเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย พระองค์ทรงเกิดความสลดพระทัยและคิดว่า “ชีวิตเราคงหนีไม่พ้นสภาพอย่างนี้แน่” จึงทรงคิดหาวิธีให้พ้นจากความทุกข์เหล่านั้น และพระองค์ทรงเห็นนักบวชรูปหนึ่งมีกิริยาสงบเรียบร้อย จึงเกิดความเลื่อมใสและคิดว่า คงเป็นวิธีการหลุดพ้นจากความทุกข์
เจ้าชายสิทธัตถะได้ตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวชโดยเสด็จออกจากพระราชวังในคืนที่พระโอรสประสูติ และผนวชบริเวณริมฝั่งแม่น้ำอโนมา