การจำแนกอาหารหลักของคนไทยออกเป็นหมู่ใหญ่ 5 หมู่ เพื่อจะเป็นประโยชน์ทางโภชนาการ คือ ให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจะได้สมบูรณ์ แข็งแรง และไม่มีปัญหาทุพโภชนาการ การจำแนกอาหารหลัก 5 หมู่ สามารถจำแนกได้ ดังนี้
หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ หรือสิ่งแทนเนื้อ
อาหารหมู่นี้ส่วนใหญ่จะให้สารอาหารโปรตีน และบางส่วนจะให้วิตามิน เกลือแร่และไขมันด้วย ได้แก่ อาหารพวกเนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง นอกจากนี้ยังมีผลไม้เปลือกแข็ง (Nuts) เช่น เกาลัด มะม่วงหิมพานต์ แป๊ะก๊วย กระจับ เป็นต้น
หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง น้ำตาล
อาหารหมู่นี้ให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่ และเปลี่ยนเป็นพลังงาน สำหรับการทำงานของร่างกาย ได้แก่ พวกเมล็ดข้าว และผลิตภัณฑ์ของข้าว เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวสาลี ข้าวโพด แป้งที่ทำมาจากข้าวต่าง ๆ น้ำตาล เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว น้ำผึ้ง พวกหัวและรากที่มีแป้งมาก เช่น
มันเทศ มันสำปะหลัง มันฝรั่ง
หมู่ที่ 3 ผักใบเขียว และพืชผักอื่น ๆ
อาหารหมู่นี้ส่วนใหญ่จะให้วิตามิน และเกลือแร่ต่าง ๆ แก่ร่างกาย ซึ่งจะมีกากใยอาหารสูง ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะทางเดินอาหาร หรือช่วยป้องกันท้องผูกได้ดี และถือว่าเป็นอาหารพวกป้องกันโรค (Protective Foods) สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ใหญ่ ๆ คือ 1. ผักกินใบ ดอก ปลี 2. ผักกินผลกินฝัก 3. ผักพวกที่กินหัว ราก
หมู่ที่ 4 ผลไม้ต่าง ๆ
อาหารหมู่นี้ให้วิตามิน และเกลือแร่ เช่นเดียวกับผักจึงถือว่าเป็นอาหารพวกป้องกันโรค (Protective foods) ผลไม้สดทั่วไปจะมีวิตามินซีอยู่มาก เช่น ผลไม้พวกส้ม (ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ฯลฯ) ผลไม้สุกบางชนิด และมีสีเหลือง เช่น มะม่วงสุก มะละกอสุก จะมีวิตามินเอสูงกว่าดิบ ผลไม้พวกกล้วยจะมีวิตามินเอ และบีสองมากผลไม้ที่มีน้ำมากจะมีแคลอรีต่ำ เช่น ส้ม แตงโม
หมู่ที่ 5 ไขมันจากสัตว์และพืช
อาหารหมู่นี้จะให้พลังงานแก่ร่างกายสูงช่วยในการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี และเค นอกจากนี้ยังให้กรดไขมันที่จำเป็นแก่ร่างกาย ไขมันจากสัตว์จะมีกรดไขมันที่อิ่มตัวสูงส่วนไขมันที่มาจากพืชจะมีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง ยกเว้นน้ำมันมะพร้าวที่มีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวน้อย