การเขียนข้อสอบวัดพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย
บลูม (Bloom) และคณะ ได้จำแนกจุดประสงค์ทางการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน พฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย ได้แบ่งย่อยเป็น 6 ด้าน และแต่ละด้านได้แบ่งเป็นพฤติกรรมย่อย ๆ รวมทั้งหมด 21 พฤติกรรม พฤติกรรมทั้ง 6 ด้าน มีดังนี้
1. ด้านความรู้ความจำ (Knowledge) ความรู้ความจำ หมายถึง ความสามารถของสมองที่เก็บสะสมเรื่องราวต่าง ๆ หรือประสบการณ์ทั้งปวง ที่ตนได้รับรู้มา
1.1 ความรู้ในเนื้อเรื่อง หมายถึง การถามเกี่ยวกับเรื่องราวหรือเนื้อหาสาระตามท้องเรื่องนั้น
1.1.1 ความรู้เกี่ยวกับศัพท์และนิยาม หมายถึง การถามเกี่ยวกับคำศัพท์ นิยามคำแปล ความหมาย ชื่อ อักษรย่อ สัญลักษณ์ เครื่องหมาย รูปภาพ
ตัวอย่าง : เครื่องหมาย ! เรียกว่าอะไร ? ก. ปรัศนี ข. บุพสัญญา ค. อัศเจรีย์ ง. อัญประกาศ
1.1.2 ความรู้เกี่ยวกับกฎและความจริง หมายถึง การถามเกี่ยวกับ กฎ สูตร ความจริงตามท้องเรื่อง ขนาด ทิศทาง ปริมาณ เวลา คุณสมบัติ ระยะทาง เปรียบเทียบ สาเหตุ
ตัวอย่าง : ดื่มน้ำชนิดใดปลอดภัยที่สุด ? ก. น้ำต้ม ข. น้ำประปา ค. น้ำฝน ง. น้ำบาดาล
1.2 ความรู้ในวิธีดำเนินการ หมายถึง การถามเกี่ยวกับขั้นตอนของกิจกรรมวิธีดำเนินเรื่องราว วิธีประพฤติปฏิบัติ แยกเป็น 5 ประเภทคือ
1.2.1 ความรู้เกี่ยวกับระเบียบแบบแผน หมายถึง การถามเกี่ยวกับแบบฟอร์ม ระเบียบ แบบแผน วัฒนธรรม ประเพณี การใช้คำสุภาพ คำราชาศัพท์
ตัวอย่าง : การไว้ทุกข์ของคนไทยใช้เสื้อผ้าสีอะไร ? ก. สีดำ ข. สีเขียว ค. สีขาว ง.สีม่วง
1.2.2 ความรู้เกี่ยวกับลำดับขั้นและแนวโน้ม หมายถึง การถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน -หลัง ข้อคำถามแนวโน้มส่วนใหญ่ใช้คำว่า มักจะ เพราะเป็นการคาดคะเนเหตุการณ์
ตัวอย่าง : ในการช่วยคนจมน้ำควรทำสิ่งใดก่อน ? ก. ล้วงคอ ข. ตามแพทย์ ค. ผายปอด ง. กดท้อง
1.2.3 ความรู้เกี่ยวกับการจัดประเภท หมายถึง การถามให้จำแนก แจกแจง จัดประเภท หรือถามในรูปปฏิเสธ เช่น ไม่เข้าพวก ไม่เข้ากลุ่ม
ตัวอย่าง : โลกเป็นประเภทกับดาวอะไร ? ก. ดวงอาทิตย์ ข. ดาวพุธ ค. ดาวศุกร์ ง.ดาวพฤหัสบดี
1.2.4 ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์ หมายถึง ข้อกำหนดที่ยึดเป็นหลักแล้วนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งต่าง ๆ ถามเอกลักษณ์
ตัวอย่าง : เชื้อเพลิงมีลักษณะอย่างไร ? ก. ราคาถูก ข. ติดไฟง่าย ค. ให้ความร้อนสูง ง.ติดไฟได้นาน
1.2.5 ความรู้เกี่ยวกับวิธีการ หมายถึง การถามวิธีปฏิบัติ การทำกิจกรรมขั้นตอนการทำงาน เช่น ปฏิบัติอย่างไร ควรทำโดยวิธีใดจึงจะมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่าง : วัตถุใดไม่สามารถ หาปริมาตรโดยวิธีแทนที่น้ำ ? ก. สารส้ม ข. ลูกแก้ว ค. ก้อนหิน ง.กำมะถัน
1.3 ความรู้รวบยอดในเนื้อเรื่อง หมายถึง ความสามารถในการค้นหาหลักการหรือหัวใจของเรื่อง
1.3.1 ความรู้เกี่ยวกับหลักวิชาและการขยาย หมายถึง หัวใจของเรื่องราวที่เกิดจากหลาย ๆ ความคิดรวบยอด มารวมกัน การขยายเป็นการขยายความต่อออกไปจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่รู้มา หรือสรุปออกจากนอกเรื่องนั้น ๆ
ตัวอย่าง : เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ เป็นเรื่องของอะไร ? ก. การเกิดฤดูกาล ข. การโคจรรอบดวงอาทิตย์ ค. การหมุนของโลก ง. เวลา
1.3.2 ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีและโครงสร้าง หมายถึง ถามเกี่ยวกับ คติ และหลักการ ของหลายเนื้อหาที่ไม่สัมพันธ์กัน
ตัวอย่าง : นิราศ เป็นบทกลอนที่แต่งในอารมณ์ใด ? ก. ดีใจ ข. เสียใจ ค. สนุกสนาน ง.โกรธแค้น
2.ด้านความเข้าใจ (Comprehension) หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้ความจำไปดัดแปลงปรับปรุง เพื่อให้สามารถจับใจความ หรือเปรียบเทียบ ย่นย่อเรื่องราว ความคิด ข้อเท็จจริงต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ด้านมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 การแปลความ หมายถึง ความสามารถแปลสิ่งซึ่งอยู่ในระดับหนึ่งไปยังอีกระดับหนึ่งได้ สุภาษิต สำนวน โวหาร
ตัวอย่าง : เหงือกปลาทำหน้าที่คล้ายกับอวัยวะส่วนใดของคน ? ก. หู ข. ฟัน ค. ปาก ง. จมูก
2.2 การตีความ หมายถึง การจับใจความสำคัญของเรื่องหรือการเอาเรื่องราวเดิมมาคิดในแง่ใหม่
ตัวอย่าง : เหตุใดต้นไม้เล็กที่ขึ้นอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่จึงมีลำต้นสูวชะลูด ? ก. เพื่อให้ได้แสงแดด ข. เพื่อให้ได้อากาศ ค. เพื่อให้ทรงตัวเร็ว ง.เพื่อให้แข็งแรงเท่าต้นใหญ่
2.3 การขยายความ หมายถึง การคาดคะเนหรือคาดหวังว่า จะมีสิ่งนั้นเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในอดีต หรืออนาคต โดยอาศัยแนวโน้มที่ทราบมาเป็นหลัก
ตัวอย่าง : ถ้าเด็ดใบเลี้ยงของพืชที่เพิ่งงอกจะเกิดผลอย่างไร ? ก. พืชโตช้า ข. พืชจะตาย ค. พืชจะเหี่ยวเฉา ง.ต้นจะเเคระแกร็น
3.ด้านการนำไปใช้ (Application) หมายถึง ความสามารถในการนำความรู้ ความเข้าใจในเรื่องราวใด ๆ ไปใช้ในสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันหรือในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
ตัวอย่าง : คนที่หน้าตาซีดเซียวควรให้รับประทานอาหารอะไร ? ก. นมสด ข. ตับไก่ ค. ผักบุ้ง ง. เนื้อหมู
4.ด้านการวิเคราะห์ (Analysis) หมายถึง การแยกแยะพิจารณาดูรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ว่ามีชิ้นส่วนใดสำคัญที่สุด เป็นการใช้วิจารณญาณเพื่อไตร่ตรอง
4.1 การวิเคราะห์ ความสำคัญ หมายถึง การพิจารณาหรือจำแนกว่า ชิ้นใด ส่วนใด เรื่องใด ตอนใด สำคัญที่สุด หรือหาจุดเด่น จุดประสงค์สำคัญตัวอย่าง : นิ้วมือนิ้วใดสำคัญมากที่สุด ? ก.นิ้วหัวแม่มือ ข.นิ้วชี้ ค.นิ้วกลาง ง. นิ้นาง
4.2 การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ หมายถึง การค้นหาความเกี่ยวข้องระหว่างคุณลักษณะสำคัญของเรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ ว่าสองชิ้นส่วนใดสัมพันธ์กัน
ตัวอย่าง : ผึ้งที่เฝ้ารังป้องกันภัยต่างๆ เปรียบได้กับคนทำงานอาชีพอะไร ? ก. ยาม ข. ทหาร ค. นักสืบ ง.ตำรวจ
4.3 การวิเคราะห์หลักการ หมายถึง การให้พิจารณาดูชิ้นส่วน หรือส่วนปลีกย่อยต่าง ๆ ว่า ทำงานหรือเกาะยึดกันได้ หรือคงสภาพเช่นนั้นได้เพราะใช้หลักการใดเป็นแกนกลาง
ตัวอย่าง : ปากทำงานร่วมกับอวัยวะใด ? ก. ลิ้น ข. เพดาน ค. ฟัน ง.หลอดลม
5.ด้านการสังเคราะห์ (Synthesis) หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานเรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเป็นเรื่องราวใหม่ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
5.1 การสังเคราะห์ข้อความ หมายถึง การนำเอาความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ มาผสมหรือปรุงแต่งขึ้นใหม่ เกิดเป็นข้อความหรือเรื่องราวใหม่ ๆ เช่น การเขียนเรียงความ
ตัวอย่าง : เรื่องพระเวชสันดรเป็นตัวอย่างของความดีในเรื่องใด น้อยที่สุด ? ก. ความเพียร ข. ความเสียสละ ค. ความกตัญญู ง.ความเมตตากรุณา
5.2 การสังเคราะห์แผนงาน หมายถึง เป็นการวัดความสามารถในการเขียนโครงการ แผนปฏิบัติงาน
ตัวอย่าง : คำใด ไม่เกี่ยวข้อง กับการวางแผนงาน ? ก. ควรจะ ข. มุ่งหมาย ค. คาดคะเน ง.ฉับพลัน
5.3 การสังเคราะห์ ความสัมพันธ์ หมายถึง การเอาความสำคัญและหลักการต่าง ๆ มาผสมให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดเป็นสิ่งสำเร็จหน่วยใหม่ ที่มีความสัมพันธ์แปลกไปจากเดิม
ตัวอย่าง : คนที่ไม่ลักขโมยเป็นคนดี เเต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นเขาจะต้องประพฤติอะไรอีกย่างหนึ่ง ? ก. ไม่โลภมาก ข. อาชีพสุจริต ค. มีเมตตากรุณา ง.มีความซื่อสัตย์
6.ด้านการประเมินค่า (Evaluation) หมายถึง การวินิจฉัย หรือตีราคา เรื่องราว ความคิด เหตุการณ์ต่าง ๆ โดยสรุปเป็นคุณค่าว่า ดี-เลว
6.1 การประเมินค่าโดยอาศัยข้อเท็จจริงภายใน หมายถึง การประเมินค่าโดยใช้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามท้องเรื่อง หรือตามสถานการณ์นั้น ๆ
ตัวอย่าง : จากเรื่องรามเกียรติ์ พิเภกเป็นบุคคลอย่างไร ?
ก. ทรยศต่อทศกัณฐ์
ข. เป็นไส้ศึกให้กับทศกัณฐ์
ค. ต้องการเป็นใหญ่ในลงกา
ง.เป็นประโยชน์ต่อพระราม
6.2 การประเมินค่า โดยอาศัยเกณฑ์ภายนอก หมายถึง การประเมินค่าโดยใช้เกณฑ์จากสิ่งภายนอกเรื่องราวนั้น ๆ เป็นหลักในการพิจารณาตัดสิน
ตัวอย่าง : ตามประเพณ๊ไทย ถือว่านางวันทองเป็นคนดีหรือไม่ ?
ก. ดี เพราะรักสามีทั้งสองคน
ข. ดี เพราะเมื่อตายเเล้วยังเป็นห่วงลูก
ค.ไม่ดี เพราะหูเบาเชื่อคนง่าย
ง.ไม่ดี เพราะมีสามีสองคน
ที่มา krunirachaporn112
Leave a Reply