จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายเกี่ยวกับความหมายของเหตุผลเชิงตรรกะ และอัลกอริทึมได้ (K)
- บอกความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผลเชิงตรรกะกับอัลกอริทึมได้ (K)
- อภิปรายเกี่ยวกับเหตุผลเชิงตรรกะและอัลกอริทึม (P)
- เห็นความสำคัญของการเขียนอัลกอริทึมด้วยข้อความและรหัสลำลอง (A)
คำถามประจำเรื่อง
- ในชีวิตประจำวันเราสามารถนำเหตุผลเชิงตรรกะมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างไร
- การที่คนเราสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้นั้น ต้องเริ่มจากอะไร
- เหตุผลเชิงตรรกะและอัลกอริทึม มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร
เนื้อหาประจำเรื่อง
- อัลกอริทึม (Algorithm)
- การแสดงอัลกอริทึมด้วยข้อความ (Natural Language)
- การแสดงอัลกอริทึมด้วยรหัสจําลองหรือซูโดโค้ด (Pseudocode)
เหตุผลเชิงตรรกะ (Logical reasoning) จะให้ความสำคัญในการวิเคราะห์หาเหตุผล สร้างการจัดลำดับเรื่องราวก่อนหลัง โดยแยกแยะความสำคัญของเรื่องราวด้วยการเปรียบเทียบปัจจัยต่าง ๆ ทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ กล่าวได้ว่าเหตุผลเชิงตรรกะ คือ การใช้เหตุผล กฎ กฎเกณฑ์ หรือเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาได้ครอบคลุมในทุกกรณี เป็นการคิดที่มีเหตุผลรองรับในการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน ใช้เหตุผลมาตัดสินใจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา
อัลกอริทึม (Algorithm) คือ กระบวนการแก้ปัญหาที่มีลำดับ หรือวิธีการแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งอย่างเป็นขั้นเป็นตอนชัดเจน โดยอัลกอริทึมมีขั้นตอน 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ทำความเข้าใจปัญหา 2. คิดวิธีการแก้ปัญหา 3. เรียงลำดับขั้นตอนก่อนและหลัง 4. ทบทวนขั้นตอนในแต่ละวิธี 5. ตรวจสอบความถูกต้องและผลลัพธ์ 6. เลือกวิธีการที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนั้น อาจกล่าวว่าอัลกอริทึม คือ การแก้ปัญหาโดยใช้ความคิดเชิงตรรกะ
อัลกอริทึมนอกจากจะใช้แก้ปัญหาทั่ว ๆ ไปแล้ว ยังสามารถใช้กับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย โดยการอธิบายอัลกอริทึมแบ่งได้เป็น 3 แบบ ได้แก่ การแสดงอัลกอริทึมด้วยข้อความ การแสดงอัลกอริทึมด้วยรหัสลำลอง และการแสดงอัลกอริทึมด้วยผังงาน