ก่อนที่จะกล่าวถึง “มารยาททางสังคม” ขอให้มาทำความรู้จักกับคำว่า “มารยาท” ก่อนว่า คืออะไร “มารยาท” หรือ “มรรยาท” (etiquette or good manners) หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ (อมรรัตน์ เทพกาปนาท, 2553) หรือก็คือ การแสดงออกที่มีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติโดยได้รับการอบรมให้งดงามตามความนิยมแห่งสังคมมารยาท ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่ได้มาจากสิ่งแวดล้อม มีการศึกษา อบรมเป็นสำคัญ ดูกิริยา ฟังวาจาของคนแล้ว พอคาดได้ว่าผู้นั้นได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างไร พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมารยาท คือ ความสุภาพและสำรวม คนสุภาพจะเป็นคนที่มีจิตใจสูงเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคนที่มีอะไรในตัวเองแล้วจึงจะสุภาพอ่อนน้อมได้ ความสุภาพอ่อนน้อมมิได้เกิดจากความเกรงกลัว แต่ถือว่าเป็นความกล้า ส่วนความสำรวม คือ การเป็นคนมีสติ ไม่พูดไม่ทำอะไรที่เกินควร รู้จักการปฏิบัติที่พอเหมาะพองาม คิดดีแล้วจึงทำ คาดแล้วว่า การกระทำจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย มิใช่เฉพาะตัวคนเดียว (บ้านมหาดอทคอม, 2552) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคล ได้แก่ การสัมมาคารวะ ความสุภาพ อ่อนน้อม ความมีวินัยและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่สายตาของผู้อื่น (http://management.aru.ac.th) จึงกล่าวได้ว่า มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคลที่แสดงออกทั้งในด้านกิริยา วาจา ซึ่งมีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติ ที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อม มีความสำรวม ถูกกาลเทศะ และปฏิบัติสิ่งที่พอเหมาะพองาม
มารยาทจึงเป็นสิ่งที่เราเคยชินกับการได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ทั้งจากในบ้านที่คุณปู คุณย่า คุณตา คุณยาย บิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักพร่ำสอน ตลอดจนคุณครูและอาจารย์ในโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ปลูกฝังเรา เพื่อให้เรามีมารยาททางสังคม รู้จักอะไรควรและไม่ควรกระทำ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ มารยาททางสังคมจึงเป็นกรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า มารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม (อมรรัตน์ เทพกาปนาท, 2553)
ปัจจุบันด้วยพิษของโลกาภิวัฒน์และโลกของการแข่งขันและการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่แย่งเวลาในการที่จะปลูกฝังสิ่งดีงามเหล่านี้ไป เกิดการหลงลืมคำว่า “มารยาท” และได้เกิดการทำสิ่งต่างๆ ที่ยึดตนเองเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงคนในสังคมรอบข้างว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ตนเองกระทำ กล่าวง่ายๆ ว่า “ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเรา คือ เราต้องสบาย ต้องได้ ไม่ต้องเสีย หรือต้องสำเร็จ” จึงทำให้สังคมเกิดความสับสนว่า “สิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำ” “สิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม” “สิ่งใดถูกกาลเทศะหรือไม่ถูกกาลเทศะ” บางคนก็กล่าวไปจนถึงการมีสมบัติผู้ดี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกันในสังคม ความอคติต่อกันทำลายบรรยากาศดีๆ ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้สังคมรอบข้างไม่น่าอยู่ แต่ถ้าทุกคนหันมาปรับปรุงบรรยากาศที่ดีในสังคมตั้งแต่หน่วยเล็กจนถึงหน่วยใหญ่ที่สุด จะทำให้สังคมนั้นๆ น่าอยู่มากขึ้น จะพบกับความถ้อยทีถ้อยอาศัย น้ำใจที่เอื้ออาทรกันและกัน การช่วยกัน/ ร่วมมือกันทำงาน และเกิดความสุขในการอยู่ร่วมกันในครอบครัวและการทำงาน
ดังนั้น มาช่วยกันทำสิ่งที่หายไปนั้นกลับคืนมาสู่สังคมไทยกันเถอะ นั่นคือ “มารยาททางสังคม” ที่ดูเหมือนสิ่งที่ดูเล็กน้อย แต่มีความสำคัญที่ทำให้ครอบครัว หน่วยงาน และสังคมเราน่าอยู่ เพราะบุคคลเรานอกจากจะมีความสามารถในเชิงการทำงานที่ดีเยี่ยมแล้ว ยังต้องรู้จักรักษากิริยามารยาท และจะต้องรู้จักการสมาคมกับผู้อื่น จึงจะเป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ เพิ่มความสนใจให้กับผู้พบเห็น (http://management.aru.ac.th) จึงนับได้ว่าบุคคลผู้นั้นเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ในการดำเนินชีวิตประจำวันและในการทำงาน เพราะคนมีมายาทนั้นไม่ได้วัดกันที่คุณจบวุฒิอะไรมา หรือมีดีกรีระดับใด หรือมีตำแหน่งหน้าที่อะไร หรือมาจากวงค์ตระกูลไหน หรือมีฐานะอย่างไร แต่วัดกันที่บุคลิกภาพของบุคคลที่แสดงออกมา โดยท่วงทีกริยามารยาทที่แสดงออกมาแล้วบุคคลอื่นรอบข้างเขารับได้หรือไม่ได้ บุคคลที่มีกริยามารยาทดีจะมีโอกาสได้รับความนิยมชมชอบและชื่นชมจากบุคคลรอบข้าง (อัจฉรา นวจินดา) แต่ถ้าบุคคลนั้นมีตำแหน่งหน้าที่สูง เป็นผู้บังคับบัญชา หรือมีความเก่งในหน้าที่การงาน แต่ไร้มารยาททางสังคม บุคคลนั้นก็ไม่น่าชื่นชมหรือน่านับถือ เพราะบุคคลนั้น ยังไม่รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ยังนึกถึงแต่ผลประโยชน์ของตน หรือยึดตนเองหรือที่เรียกว่า “อัตตา” เป็นหลัก ยังไม่รู้จักให้เกียรติคนอื่น ลืมมองดูคนอื่นที่อยู่รอบข้างว่า ทุกคนมีความสำคัญในสังคมไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะใดในสังคมก็ตาม เขาก็มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน จึงควรให้เกียรติไม่ว่าเขาจะมีฐานะด้อยกว่าตนก็ตาม หลายครั้งที่บุคคลเราเมื่อมีฐานะ มีหน้ามีตาในสังคม หรือมีอำนาจขึ้นมา มักจะลืมนึกถึงคนอื่นที่เขามีความเป็นมนุษย์เช่นตนเอง ที่มีความรู้สึกและมีความต้องการเช่นกัน แต่กลับแสดงอำนาจหรือมีกริยาที่แสดงท่าทีข่มคนอื่น เพื่อให้เขาดูด้อยกว่าตนเอง ซึ่งดูเหมือนจะดีที่สร้างสถานการณ์ที่เหนือกว่าบุคคลอื่น แต่สิ่งที่ทำไปนั้น กลับติดลบ เพราะสิ่งที่ทำไปไม่ได้ใจคนที่เห็นหรือคนที่ถูกกระทำ และบางครั้งกลับกลายเป็นการเอาคืน จึงทำให้บรรยากาศดีๆ ที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขหายไป และถ้าเป็นหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันด้วยแล้ว ความร่วมมือในการทำงานจะหายไป ผลงานที่ได้อาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งดูเหมือนประสบความสำเร็จดี แต่ถ้ามองลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจริงๆ อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จจริงๆ ก็ได้ เพราะคนอาจทำให้ด้วยหน้าที่ตามความจำเป็น หรือทำให้เพราะกลัวอำนาจของผู้มีอำนาจหน้าที่เหนือกว่า แต่ไม่ได้ใส่ใจกับงานที่ต้องทำ สิ่งที่ออกมาจึงไม่ได้มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น เป็นการทำให้ผ่านๆ หรือพ้นๆ ตัวไปเท่านั้น และเมื่อวงจรนี้ยังคงอยู่ ไม่มีการปรับปรุง ผลกระทบที่สะสมนั้นสุกง่อม ก็จะแสดงออกมา และวันนั้นการแก้ไขก็จะยากขึ้น ส่งผลร้ายต่อตนเอง คนรอบข้าง หน่วยงาน และสังคมที่อยู่ แต่ก็ไม่มีอะไรที่สายเกินไปที่เราจะหันกลับมาและเอาใจใส่กับคนรอบข้างอย่างจริงใจ ด้วยมารยาททางสังคมที่ดีงามให้แก่กันและกัน จะทำให้สิ่งที่ดีๆ กลับมาสู่สังคมเรามากยิ่งขึ้น เกิดความรักและความสามัคคีกันในสังคม
การที่จะทำให้ครอบครัว หน่วยงาน และสังคมน่าอยู่นั้น สิ่งที่ต้องปลูกฝังและฝึกฝนมาตั้งแต่เล็กจนโต ก็คือ การเป็นผู้มีมารยาท หรือบางคนโตแล้ว แต่ในวัยเด็กไม่ได้ถูกปลูกฝังมา ก็สามารถปรับหรือพัฒนาตนเองได้ ถ้าใจคิดที่จะทำให้ดีขึ้น เพราะมารยาทแสดงออกมาที่กิริยาท่าทางและการพูดจา อาศัยการบอกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฝึกเองจนเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ คนดี มารยาทดีเท่ากัน แต่อาจไม่เหมือนกัน เพราะคนมีบุคลิกภาพต่างกัน การแสดงออกย่อมต่างกันด้วย มีตัวร่วม คือ แสดงออกมาแล้วเป็นผลดีแก่ตัว เพราะทำให้ผู้อื่นพอใจด้วยรู้สึกว่าได้รับเกียรติ เมื่อให้เกียรติแก่ผู้อื่น ตนเองก็จะเป็นผู้มีเกียรติด้วย สังคมใดมีคนแสดงมารยาทดีต่อกัน สังคมนั้นเป็นสังคมของผู้มีเกียรติ (อมร สังข์นาค) ดังนั้น มารยาทที่พบเห็นกันบ่อยๆ และควรรักษาไว้ในสังคมและปลูกฝังให้ลูกหลานคนไทยต่อไป