มารยาทในการพูดที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้
1.1 คำกล่าว “ ขอบคุณ ” จะใช้เมื่อมีผู้อื่นให้สิ่งของ ให้ความช่วยเหลือ ให้บริการ หรือเอื้อเฟื้อทำสิ่งต่างๆ ให้ ไม่ว่าจะโดยหน้าที่ของเขา หรือมีน้ำใจหรือไม่ก็ตาม เช่น บริกรเสริฟน้ำให้ คนลุกให้นั่งหรือช่วยถือของให้บนรถประจำทาง คนช่วยหยิบของให้เวลาของหล่นลงพื้น พนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยบอกทางในขณะจอดรถ หรือคนช่วยเปิดประตูให้ เป็นต้น การกล่าวคำขอบคุณนั้น ถ้ากล่าวกับผู้ที่อาวุโสกว่า หรือมีวัยเสมอกันจะใช้คำว่า “ขอบคุณ” หรือถ้ากล่าวกับคนอายุน้อยกว่าจะใช้คำว่า “ ขอบใจ ” ส่วนระดับของการขอบคุณนั้นจะใช้คำว่า “ขอบคุณ” “ขอบคุณมาก” “ขอบพระคุณมาก” “ขอบใจ” “ขอบใจมาก” ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้พูดต่อสิ่งที่ทำให้หรือได้รับ โดยเฉพาะคำว่า “ขอบพระคุณมาก” จะใช้กับผู้อาวุโส มิใช่แค่คำพูดเท่านั้น น้ำเสียงที่พูด กิริยา ท่าทางที่พูดจะบอกว่า ผู้นั้นพูดออกมาจากความรู้สึกที่อยู่ในใจจริงๆ หรือพูดออกมาตามหน้าที่ หรือตามสถานการณ์ที่บังคับที่ทำให้ต้องพูด ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงสิ่งที่พูด และยิ่งยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวคำขอบคุณกับผู้อาวุโสไปพร้อมกัน จะทำให้ดูอ่อนน้อม และได้รับความเมตตาจากผู้อาวุโสมากยิ่งขึ้น และการพูดขอบคุณแบบขอไปทีกับไม่พูดนั้น ผู้เขียนเห็นว่า การพูดก็ดีกว่าการไม่พูด เพราะแสดงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ดีกว่าการไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
1.2 คำกล่าว “ ขอโทษ ” จะใช้เมื่อทำสิ่งที่ไม่ดี /สิ่งที่ผิด / สิ่งผิดพลาด/ สิ่งที่ไม่เหมาะสม/ การรบกวน/ การขัดจังหวะขณะพูดหรือทำงานเมื่อมีธุระด่วน/ การพูดจาหรือแสดงกิริยาที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมต่อบุคคลอื่นทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เป็นต้น การกล่าวคำขอโทษนั้น จะใช้คำว่า “ขอโทษ” เมื่อผู้พูดรู้สึกสำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำ/ พูด/ แสดงออกมา ถ้าพูดออกมาด้วยความรู้สึกผิด จะทำให้คำขอโทษนั้นมีความหมายที่ผู้ฟังหรือคนกระทำรู้สึกดีขึ้นและพร้อมที่จะให้อภัย และถ้าเขาให้อภัยแล้ว ผู้ที่ทำผิดต้องกล่าวคำขอบคุณที่เขาให้อภัยเราด้วย แต่ถ้ากล่าวคำขอโทษออกมาแบบเสียไม่ได้ หรือในท่าทีที่ไม่เหมาะสม คำขอโทษนั้นจะมีน้ำหนักน้อยที่อาจทำให้เขาอาจไม่ให้อภัยหรือให้อภัยตามมารยาทสังคมเท่านั้น แต่ในใจยังรู้สึกติดใจอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในอนาคตได้ที่อาจมีการเอาคืนในภายหลัง แต่การกล่าวคำว่าขอโทษแบบเสียไม่ได้ก็ยังดีกว่าการไม่ยอมกล่าวคำขอโทษออกมา เพราะย่อมแสดงถึงว่าเราลดตัวตนหรือทิฐิของเราลงมาในระดับหนึ่ง และยอมที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ถึงแม้ความรู้สึกสำนึกผิดจะช้าก็ตาม ในการกล่าวคำขอโทษนั้น ถ้ากล่าวกับผู้อาวุโสควรยกมือไหว้พร้อมกันไปด้วย จะทำให้ผู้อาวุโสที่เราขอโทษเขารู้สึกดี และบอกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้นั้นด้วย จะทำให้ดูดีและน่ารักในสายตาผู้อาวุโสและสายตาของผู้ที่ได้พบเห็นหรืออยู่ในสถานการณ์นั้น
1.3 คำพูดที่ใช้เมื่อสนทนาหรือกล่าวถึงผู้อื่นในลักษณะให้เกียรติ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก ดังคำโบราณว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว” ก็แสดงว่า การพูดนั้นเป็นคุณแก่ผู้พูด คำพูดที่จะให้คุณ ก็คือ คำพูดดีๆ ที่พูดต่อกัน น้ำเสียงในการพูดให้น่าฟัง อ่อนโยน ใช้ภาษาที่เหมาะสม ถูกกาลเทศะ แสดงความให้เกียรติ รักษาน้ำใจผู้อื่น และไม่ควรพูดประชดประชันหรือซุบซิบนินทาผู้อื่นให้เสียหาย คำพูดดีๆ นั้นจะหมายรวมถึงการที่ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น หรือยกตนข่มผู้อื่น หรือแสดงตนว่าอยู่เหนือคนอื่น หรือพูดไม่ถูกกาลเทศะ การพูดเหล่านี้นอกจะไม่ให้คุณแล้ว ยังแสดงถึงความไม่มีมารยาทในการพูด จะทำให้เกิดผลกระทบตามมากับผู้พูด ทำให้ผู้พูดขาดทุน เพราะขาดความน่ารัก ไม่ได้ใจผู้ฟัง และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกันตามมาด้วย การพูดที่ให้เกียรติผู้อื่นนั้น ไม่ใช่ให้เกียรติเฉพาะผู้อาวุโส/ ผู้ใหญ่เท่านั้น ต้องรวมไปถึงผู้ที่มีศักดิ์และสถานะเท่าเทียมกัน จนถึงผู้ที่มีศักดิ์หรือสถานภาพด้อยกว่าผู้พูดด้วย โดยเฉพาะถ้าผู้พูดเป็นผู้อาวุโสกว่าหรือเป็นผู้บังคับบัญชา ยิ่งต้องพูดดีและให้เกียรติกับผู้ที่ทำงานร่วมกันไม่ว่าเขาอยู่ในสถานภาพไหนก็ตาม จะทำให้ได้ใจผู้ฟัง และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำงาน
1.4 การทักทาย ในประเพณีไทยจะทักทายกันโดยการไหว้และกล่าวคำว่า “สวัสดี” ส่วนสากลเวลาพบกันจะทักทายกันโดยยื่นมือขวาจับกันและเขย่ามือเล็กน้อย และทักทายด้วยคำสวัสดีเป็นภาษาต่างประเทศและถามสารทุกข์สุกดิบระหว่างกัน
1.5 การแนะนำบุคคลให้รู้จักกัน หลักโดยทั่วๆไปแล้ว จะแนะนำผู้อาวุโสมากก่อนผู้มีผู้อาวุโสน้อยกว่า หรือแนะนำผู้เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือมีตำแหน่งระดับสูงกว่าก่อนผู้อื่น ถ้ามีสถานภาพเสมอกันก็ให้แนะนำตามความเหมาะสม อาจแนะนำผู้ที่มาก่อนก็ได้