วิชาสังคมศึกษาฯ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ส่งต่อให้เพื่อนอ่าน :

ภาคเรียนที่ 1

สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ และมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชน เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้พุทธศาสนิกชนทำความดีตามหลักธรรมส่งผลให้สังคมเกิดความสงบสุข พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา การแสวงหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์และเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนมีหลักธรรมที่ใช้สำหรับการดำเนินชีวิต
พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นสาวกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีบริวารมาก และช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ชาดกเป็นนิทานทางพระพุทธศาสนาที่เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในอดีต มีข้อคิดสอนใจที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ พุทธศาสนิกชนตัวอย่าง เป็นบุคคลที่นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
• พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่เคารพสูงสุดของชาวพุทธ
• ไตรสิกขา เป็นหลักธรรมที่ปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง
• โอวาท 3 เป็นหลักธรรมที่ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำความชั่ว การทำความดี การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
• พุทธศาสนสุภาษิต เป็นคติธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เป็นข้อคิดเพื่อให้นำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
• การนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาปฏิบัติ จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสมานฉันท์
• การทำความดีของตนเอง บุคคลในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจะทำให้สงบ ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
การปฏิบัติตนตามหน้าที่และมรรยาทชาวพุทธอย่างถูกต้องและเหมาะสมเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบต่อไป
การบริหารจิตและเจริญปัญญา เป็นการฝึกจิตให้เกิดความสงบ มีสมาธิแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การบริหารจิตและเจริญปัญญาสามารถฝึกได้หลายวิธี เช่น สวดมนต์ ไหว้พระแผ่เมตตา ฝึกให้มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ศาสนพิธี เป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อแสดงถึงความเคารพและศรัทธาในพระรัตนตรัย
ศาสนาทุกศาสนา เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของศาสนิกชน ทุกศาสนาล้วนมีศาสดาหรือเทพเจ้าซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ เราจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอื่น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

ภาคเรียนที่ 2

สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม

วิถีประชาธิปไตยเป็นการอยู่ร่วมกัน โดยยึดหลักประชาธิปไตย คือ การเคารพ แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรู้จักใช้เหตุผลในการตัดสินและแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
 สิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะได้รับการปกป้อง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะมีส่วนร่วม เป็นสิทธิของเด็กที่พึงได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชนและตามกฎหมาย เด็กที่ได้รับสิทธิพื้นฐานดังกล่าวจะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองสืบไป
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล เพื่อประโยชน์สุขของปวงชน
วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งดีงามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อแสดงความเจริญงอกงามคนไทยทุกคนจึงควรอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป

สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์

ผู้บริโภคควรเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้รับความคุ้มค่าผู้บริโภคควรทราบสิทธิของตนเองในฐานะผู้บริโภค เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนในการเลือกซื้อและใช้สินค้าและบริการได้อย่างถูกต้อง
• การนำหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน จะทำให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และสามารถช่วยเหลือตนเองได้
• ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน จะทำให้เศรษฐกิจในชุมชนมีการพัฒนาและเป็นการช่วยเหลือกันเพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้
เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและการซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างประเทศจะใช้สกุลเงินที่แตกต่างกัน

สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์

จังหวัดเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่รวมเอาอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และ ชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีสิ่งต่าง ๆ มากมายอยู่ในจังหวัด สิ่งทั้งหลาย ภายในจังหวัดล้วนมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ เป็นเหตุและปัจจัยแก่การเกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้จังหวัดจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือที่มีศักยภาพ ได้แก่ แผนที่ รูปถ่ายทางอากาศ และภาพจากดาวเทียม ที่สามารถแสดงข้อมูลและสาระทางพื้นที่ของจังหวัดได้
การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อมนุษย์ทั้งในด้านบวกและด้านลบ มนุษย์ ต้องพึ่งพาอาศัยและใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติตลอดเวลา รวมทั้งมนุษย์ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง และท้ายที่สุดมนุษย์จะเป็นผู้รับผลจากการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว มนุษย์จึงต้องตระหนักและมีส่วนร่วมดูแลรักษาให้สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่
อย่างยั่งยืน
ส่งต่อให้เพื่อนอ่าน :